19.3.53

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์



อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งสหรัฐฯ ว่าขณะนี้ไทยดำเนินนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสามารถในการสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับการชื่นชมและยอมรับจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และอังค์ถัด (UNCTAD) ว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และขยายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงมีแผนที่จะจัดการประชุม World Creative Economic Forum ขึ้น ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ประเทศไทย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น WIPO UNCTAD และผู้สนใจทั่วโลก มาประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการประกาศพันธสัญญาของรัฐบาล 12 ข้อ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน GDP ร้อยละ 12 เป็น ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2555 โดยมีแนวนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอาเซียนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติเป็นครั้งแรก มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดทำยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือตำราเรียนเพื่อการส่งออก การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันนโยบาย e-commerce และได้ส่งผลให้พบสินค้าละเมิดน้อยลงไทยยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น การยกร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าเพื่อเอาผิดเจ้าของสถานที่ขาย เก็บ และผลิตสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การแก้ไขกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต และผลักดันให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการค้าขนาดใหญ่เป็นความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงหวังว่าความคืบหน้าที่ผ่านมา จะช่วยให้สหรัฐฯ ถอดไทยจากบัญชี PWL ในการประเมินในเดือนเมษายน 2553