19.3.53

จุดพลิกผันสู่เส้นทาง ส.ส.อลงกรณ์

รสช. จุดพลิกผันสู่เส้นทาง ส.ส. ของอลงกรณ์ พลบุตร
“เมื่อเกิด รสช.ปี 2534 ตอนนั้น นอนอยู่ ได้ยินประกาศ รสช. ก็คิดว่า เผด็จการกลับมาอีกแล้ว จึงตัดสินใจลงเล่นการเมือง”อลงกรณ์ กล่าว

แต่ลงครั้งแรกสอบตก โดยได้ 40,000 กว่าคะแนน จึงรู้ว่า คนต้องการการเปลี่ยนแปลง

ลงครั้งที่ 2 ได้ 100,000 กว่าคะแนน สูงสุดของจังหวัด และได้รับเลือกตั้งต่อมา ในปี 2538 แต่ในการเลือกตั้งปี 2539 กลับสอบตก แบบไม่คาดฝัน

แม้จะสอบตก แต่ยังได้รับความไว้วางใจ จาก “ชวน หลีกภัย” เป็นเลขานุการผู้นำฝ่ายค้าน เเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี

“ผมไม่ได้สนิทกับนายชวน ที่ได้รับความไว้วางใจ คิดว่า เพราะผมเป็นคนที่รับผิดชอบต่องาน ส่วนตัว ไม่ชอบระบบการสร้างสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อตำแหน่ง” อลงกรณ์ อธิบาย

เอธานอลผลงานที่ภูมิใจ
“ผลงานที่ผมภูมิใจที่สุด ในหน้าที่ผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การตรวจสอบการทุจริต แต่เป็นความสำเร็จในการผลักดัน โครงการเอธานอล”อลงกรณ์ กล่าว

ตอนนั้น กลัวว่า ครม. จะไม่รับ ผมถึงกับขับรถไถนา ที่ขอยืมมาจากโครงการส่วนพระองค์ ขับเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิสูจน์ให้ครม.เห็นว่า สามารถใช้ เอธานอลได้ ที่ภูมิใจ เพราะที่ผ่านมา เราจะต้องซื้อน้ำมันเข้ามาปีละ 300,000 ล้านบาท หากมีการใช้เอธานอลก็จะแก้ปัญหานี้ได้ แถมชาวบ้านมีรายได้เพิ่มด้วย

ในฐานะผู้แทนราษฎร แน่นอนว่า เงินเดือนจำนวนครึ่งแสน คงไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย ทั้งส่วนตัว และค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม หรือชาวบ้าน ส.ส.ทุกคน จึงต้องมีธุรกิจ ส่วนตัวเพื่อซับพอร์ตงานการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ “อลงกรณ์”

นอกจากทำงานการเมือง อลงกรณ์ มีธุรกิจการประมงระหว่างประเทศ โดยหลีกเลี่ยงงาน ที่ไม่ Conflict of Interest กับตำแหน่ง ส.ส.

รมต.ไม่ฝันขอเป็นประธานสภา
อลงกรณ์ บอกว่า ความฝันสูงสุดในชีวิต คือ การเป็นผู้แทนราษฎร และที่ภูมิใจ คือเป็นผู้แทนโดยไม่ได้ใช้เงินไม่เคยย้ายพรรค ไม่ว่า จะชนะหรือแพ้มากน้อยแค่ไหน เพราะ เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นสถาบัน พรรคจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คน เราจะต้องรับผิดชอบต่อพรรค สิ่งที่เราทำส่งผลกระทบต่อพรรค ไม่ว่า ความล้มเหลวหรือความสำเร็จ

นอกจาก ส.ส.แล้ว ก็อยากจะเป็นรอง- ประธานสภา หรือประธานสภามากกว่า การเป็นรัฐมนตรี เพราะได้ทำงานกว้างขวางกว่า ตำแหน่ง ส.ส.ถือเป็นตำแหน่งของประชาชน “อลงกรณ์” บอกความในใจ

“มุมมองในการทำงานของผม คือ จะ ต้องกล้าคิด กล้าทำ และกล้ารับผิดชอบ หากกล้าคิด แต่ไม่กล้าทำ การปฏิบัติก็เป็นศูนย์ หรือหากกล้าทำ แต่คิดไม่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งที่จะต้องคิด คือ ทำอะไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น” อลงกรณ์ กล่าว

เปิดก๊วนกอล์ฟมีแต่ขุนพลเศรษฐกิจ
เท่าที่ฟังมา ดูเหมือนว่า “อลงกรณ์” จะมีภารกิจที่ยุ่งเหยิง แทบไม่มีวันว่าง ทำให้สงสัยว่า มีงานอดิเรกอะไรบ้าง

“มีตีกอล์ฟบ้างเดือนละ 2-3 ครั้ง แล้ว แต่โอกาส เล่นมาแล้ว 5 ปี ลงแข่งครั้งแรกที่พรรคจัด ได้ถ้วยบู้บี้ ก่อนจะได้แชมป์ เพื่อนร่วมก๊วนก็มี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไพฑูรย์ แก้วทอง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ซึ่งเป็นเพื่อนในพรรคเดียวกัน สนามที่เล่นก็ไม่แน่นอน อาทิ สนามราชพฤกษ์ ลำลูกกา กฤษฎานคร เอกชัย หรือ ปัญญาตรงรามคำแหง” อลงกรณ์ กล่าวใน ช่วงท้ายของการสนทนา

เส้นทางชีวิตของ “อลงกรณ์ พลบุตร” นับว่า น่าสนใจ ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และชีวิตการเป็นนักการเมือง เป็นแบบอย่างของนักสู้ได้เป็นอย่างดี

http://www.arip.co.th/businessnews.php?id=404614